-แนวทางการเล่นพื้นฐานของ Thailand’s Way มีด้วยกัน 11 ข้อ ซึ่งเรียกว่า Elefant Elf มาจากภาษาเยอรมัน มีความหมายถึง ช้าง 11 ตัว
-ซึ่ง Elefant Elf จะถูกนำไปต่อยอดสู่แนวทางการเล่นเป็นทีม เรียกว่า Thailand Structure Model อันเป็นแนวทางการเล่นของแต่ละตำแหน่ง และทรงบอลของแต่ละสถานการณ์
-นอกจากนี้ในแต่ละตำแหน่งยังมีเกณฑ์ในเรื่องของความฟิตแบบเฉพาะเจาะจงที่จะนำมาใช้ในการคัดเลือกนักเตะทีมชาติด้วย
คำว่า Thailand’s Way ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในหนังสือ “Manual of Best Practices by Coach Heng”
โดยแนวทางการเล่นดังกล่าวได้ถูกจำกัดความไว้ว่า“เป็นการนำรูปแบบการเล่นของที่ต่างๆ อาทิเช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น, เบลเยี่ยม มาผสมผสานเพื่อให้เหมาะสมกับคนไทย มีหัวใจสำคัญคือความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเล่นที่คิดเร็ว ทำเร็ว มีความดุดัน
“Thailand’s Way มี 11 ข้อ ซึ่งผมเรียกว่า Elefant Elf เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า ช้าง 11 ตัว ซึ่งเอคโคโนจะเป็นฝ่ายทำหน้าที่ดูแลในการสร้างพื้นฐานให้กับเด็ก ส่วนในระดับ U-15, U-17, U-19, U-21 ก็จะเริ่มมีการนำแนวทางการเล่นแบบ Thailand’s Way มาใช้ให้เกิดรูปธรรมมากขึ้น หลังจากมีการปรับแต่งกันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทีมเยาวชนทุกชุดจะมีแนวทางการเล่นเหมือนกันหมด” โค้ชเฮงกล่าว โดยในส่วนของพื้นฐาน (Basic) การเล่นของแต่ละคนจะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. Speed and Technique มีทักษะขณะเคลื่อนไหว เคลื่อนบอลไปข้างหน้าด้วยความเร็ว ไม่มีการหยุดยืนดู
2. Toward Goal มีการเล่นที่มุ่งหน้าเข้าหาประตูคู่ต่อสู้
3. Collective Play มีทีมเวิร์ค รู้จักการเล่นรวมกันเป็นทีม เวลาขึ้นเกมขึ้นไปพร้อมๆกัน
4. Keep Moving เคลื่อนที่ไปกับบอลตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ใกล้บอลหรือห่างออกมา เพื่อความกระชับของรูปทรง (Shape Compact) และสมดุล (Balance) ของทีม
5. Physical Contact มีความแข็งแกร่งทางด้านร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบในการเบียดแย่งหรือครอบครองบอล
6. Dual 1 v 1 มีความสามารถในการเอาชนะในสถานการณ์ 1 ต่อ 1 ไม่ว่าเกมรุกหรือเกมรับ
7. Tactical Flexibility มีความยืดหยุ่นทางแทคติกที่เปลี่ยนไปเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในสนามหลากหลายรูปแบบ
8. Regain the Ball Quickly แย่งบอลได้รวดเร็ว เวลาบอลเสียต้องแย่งคืนกลับมา ไม่ใช่ยืนดู
9. Hungry for Goal มีความกระหายที่จะทำประตูคู่ต่อสู้ตลอดเวลา
10. Competitive Mentality มีหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตามหลัง
11. Winning Mentality มีความเป็นผู้ชนะทั้งในและนอกสนาม ใส่ใจรายละเอียดในการซ้อม เพื่อให้ตนเองสามารถเอาชนะในทุกๆ นาทีที่ลงแข่งขัน
จากพื้นฐานส่วนบุคคลสู่การเล่นเป็นทีม
เมื่อเด็กแต่ละคนได้รับการปูพื้นฐานครบทั้ง 11 ข้อ ก็จะเข้าสู่การเล่นโครงสร้างการเล่นเป็นทีม (Thailand Structure Model) ซึ่งมีการกำหนดโครงสร้างถึงแนวทางการเล่นในแต่ละตำแหน่ง รวมถึงทรงบอลในแต่ละสถานการณ์ อาทิเช่น
Elephant Build-up – การตั้งเกม
Elephant Deep Defense – การถอยลงมารับต่ำ
Elephant High Defense – การกดดันจากแดนบน
Elephant Defense – การเล่นเกมรับในแดนกลาง
Elephant Defensive Transition – การเล่นเกมรับขณะเสียบอล
Elephant Offensive Transition – การเปลี่ยนจากรับเป็นรุก
ซึ่งทุกๆ จังหวะการเล่นไม่ว่าจะเป็น การผ่านบอลกันอย่างรวดเร็วและมีเป้าหมาย, การเล่นบอลระหว่างแดนกลางกับแดนหลังของคู่ต่อสู้, การเปลี่ยนแกน, การเปลี่ยนจากรับไปรุกในแดนคู่ต่อสู้, การเล่นอยู่ข้างหลังแนวรับคู่ต่อสู้, การขึ้นเกมทางปีก, การตั้งเกมจากข้างหลัง, การวิ่งทะลุจากด้านหลัง, จ่ายทะลุช่อง ทั้งหมดนี้จะถูกผสมผสานเข้าด้วยกันเป็น Thailand Set
โดยรูปแบบการเล่นทั้งส่วนบุคคลและส่วนของทีมจะเป็นพิมพ์เขียวเหมือนกันหมด เหมือนกับเยอรมนีและญี่ปุ่น ที่ตั้งแต่ระดับรากหญ้า, โรงเรียน, สโมสร รวมถึงทีมชาติ ใช้แนวทางอย่างเดียวกัน
“มันคือพื้นฐานสากล ที่เมื่อคุณได้ซึมซับปรัชญาเข้าไปแล้ว คุณจะสามารถเล่นในระบบใดก็ได้หมด ไม่ว่าจะเป็น 4-3-3, 3-5-2, 4-5-1 หรือ 4-4-2 และเวลาที่นักฟุตบอลไปเล่นทีมชาติก็จะไม่มีปัญหาในการปรับตัว เป็นการพัฒนามาตรฐานฟุตบอลไทยทั้งระบบด้วย” วิทยา เลาหกุล กล่าวเสริม